เปิดในหน้าต่างใหม่
อัพเดท 3 มิถุนายน 2565

ผู้ชนะการแข่งขัน Swift Student Challenge จากงาน WWDC22 ของ Apple ช่วยเหลือชุมชนด้วยการเขียนโค้ด

ผู้ชนะการแข่งขัน Swift Student Challenge ประจำปีนี้ ได้แก่ (ซ้ายไปขวา) Josh Tint, Jones Mays II และ Angelina Tsuboi
ทุกปีช่วงใกล้ถึงงาน Worldwide Developer Conference ของ Apple กลุ่มคนรุ่นใหม่จากทั่วโลกจะมาร่วมแสดงทักษะการเขียนโค้ดโดยใช้ Swift Playgrounds โดยในปีนี้การแข่งขัน Swift Student Challenge มีผลงานจากผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง Jones Mays II, Angelina Tsuboi และ Josh Tint  
เยาวชนทั้ง 3 คน อาศัยพลังแห่งการเขียนโค้ดเพื่อสร้างแอปที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ชุมชนของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งในนักเรียนนักศึกษากว่า 350 คนจาก 40 ประเทศและภูมิภาคที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการแข่งขันประจำปี 2022
Swift Student Challenge เป็นเพียงส่วนหนึ่งในงาน WWDC22 ซึ่งมีทั้งคีย์โน้ต กิจกรรม แล็บ และเวิร์กช็อป ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์และเปิดโอกาสให้ชุมชนอันเข้มแข็งของเหล่านักพัฒนาของ Apple กว่า 30 ล้านคนทั่วโลกได้เข้าร่วมงานฟรี และเมื่องานเริ่มขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน ทั้ง Mays, Tsuboi และ Tint พร้อมด้วยคนอื่นๆ จะได้รู้จักกับเทคโนโลยี เครื่องมือ และเฟรมเวิร์กล่าสุด ที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเขียนโค้ดอันยอดเยี่ยมของแต่ละคนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อพัฒนาเป็นแอปสุดล้ำแห่งอนาคตต่อไป
ภาพประกอบที่แสดงให้เห็น Jones Mays II กำลังยืนอยู่ท่ามกลางลายศิลป์และกราฟิก
Jones Mays II พัฒนาแอปที่ช่วยจำแนกสปีชีส์ที่รุกราน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากปู่ของเขา
เมื่อครั้งที่ Jones Mays II อายุ 17 ออกแบบแอป Ivy ซึ่งเป็นผลงาน Swift Playgrounds ที่ชนะรางวัล เขาได้รับแรงบันดาลใจจากต้นตระกูลของตนเอง
"ปู่ของผมมีสวนแห่งหนึ่งที่เขารักและปลูกพืชผักเอาไว้มากมายให้คนละแวกนั้นเก็บเกี่ยวไปกินได้ตามต้องการ" Mays ซึ่งกำลังจะเริ่มเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายที่ฮิวสตัน รัฐเท็กซัส กล่าว "แม้ช่วงบั้นปลายชีวิต ปู่จะเดินไม่ได้ แต่ก็ยังชี้ไปยังตำแหน่งต่างๆ ให้ผมไปหว่านเมล็ดพันธุ์ได้ แต่สิ่งที่เราต้องจัดการไม่หยุดหย่อนก็คือ การกำจัดวัชพืชอย่างคุดซู" 
ดังนั้น Mays จึงตัดสินใจพัฒนาแอปเพื่อเป็นเกียรติแก่ปู่ของเขาที่จากไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยช่วยให้ชาวสวนคนอื่นๆ สามารถจำแนกและกำจัดพืชรุกรานอย่างคุดซูได้นั่นเอง 
"ผมชอบมากที่ได้พัฒนาโปรแกรมซึ่งสามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และความหลงใหลของตัวเองออกมาในรูปแบบที่สนุกและง่าย" Mays กล่าว "Swift มีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ ซึ่งผมรู้จักมาประมาณ 1 ปี และชอบที่ใช้งานได้ง่าย"
ฤดูร้อนปีนี้ Jones จะได้ช่วยสอนภาษาการเขียนโปรแกรม เช่น Swift ให้กับคนอื่นๆ
"ผมจะได้สอนนักเรียนรุ่นต่อไปว่าการเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์มีประโยชน์อย่างไร" Mays กล่าว "เพราะผมเชื่ออย่างมากว่า หากเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ คุณก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอีกหลากหลายสาขา"
ไม่น่าแปลกใจที่การสอนกลายเป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางของ Mays เพราะเขามาจากครอบครัวที่เป็นนักการศึกษามาหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ พี่ชาย และคุณตาที่เพิ่งเสียชีวิตไป ซึ่ง Mays เชื่อว่าคุณตาจะต้องเห็นด้วยกับแอปที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คุณตาแน่นอน
"คุณตาเป็นคนพูดน้อยมาก" Mays เล่าให้ฟัง "แต่คิดว่าคุณตาจะต้องบอกว่า 'ไอ้หนุ่ม ทำดีมาก' แน่นอน"
ภาพประกอบที่แสดงให้เห็น Angelina Tsuboi กำลังยืนอยู่ท่ามกลางลายศิลป์และกราฟิก
Angelina Tsuboi คอยมองหาวิธีใหม่ๆ ในการใช้ทักษะการเขียนโค้ดและการแก้ไขปัญหาของตนเอง เพื่อช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนมาโดยตลอด
หากพูดถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ Angelina Tsuboi วัย 16 ปี ที่อาศัยอยู่ในเรดอนโดบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ได้จัดการเพียงแค่หนึ่งอย่าง 
นอกจากผลงาน Swift Playgrounds ที่ชนะรางวัลซึ่งช่วยสอนวิธีช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เธอยังพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่ช่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศ สร้างเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานค้นหาและช่วยชีวิต และออกแบบโปรแกรมด้านการสื่อสารของโรงเรียนที่ชนะการแข่งขัน Congressional App Challenge ในระดับเขต
"ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหา และทุกคนต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาอย่างน้อยหนึ่งอย่าง" Tsuboi กล่าว "การเขียนโปรแกรมทำให้ฉันเริ่มเห็นความหวัง โดยช่วยมอบแนวทางในการบ่งชี้ปัญหาซึ่งผู้คนในชุมชนหรือเพื่อนๆ ของฉันพบเจอ และได้ใช้ชุดทักษะของฉันเพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น" 
โปรเจ็กต์ที่สำคัญกับเธอเป็นการส่วนตัวมากที่สุดก็คือแอปที่ชื่อว่า Lilac ซึ่งเปิดตัวทาง App Store เมื่อเดือนมีนาคม 
"คุณแม่ของฉันเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวและมาจากญี่ปุ่น" Tsuboi เล่า "ตอนที่คุณแม่มาอยู่ที่นี่ ต้องเจอปัญหาเรื่องภาษามากมาย ฉันจึงสร้างแอปที่ช่วยในการค้นหาตัวช่วยต่างๆ เช่น การดูแลเด็ก ที่พักอาศัย เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงนักแปลในชุมชน เพื่อช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน" 
สำนึกแห่งการช่วยเหลือได้ซึมผ่านทุกสิ่งที่ Tsuboi ลงมือและทำให้เธอเฝ้าหาโอกาสจัดการกับโปรเจ็กต์ใหม่มาโดยตลอด 
"การหยิบยื่นความช่วยเหลือทำให้คุณถ่อมตนและสร้างสัมพันธ์กับชุมชน" Tsuboi กล่าว "ทำให้โลกดูเป็นสถานที่ซึ่งดียิ่งขึ้นและช่วยเติมเต็มความอิ่มเอมให้กับตัวฉัน เพราะอย่างน้อยก็ได้ทำสิ่งหนึ่งที่ช่วยปลดเปลื้องความยุ่งเหยิงบนโลกใบนี้"
ภาพประกอบที่แสดงให้เห็น Josh Tint กำลังยืนอยู่ท่ามกลางลายศิลป์และกราฟิก
Josh Tint มุ่งมั่นที่จะใช้ความรักด้านภาษาศาสตร์และการเขียนโค้ดของตนเองเพื่อลดความไม่เท่าเทียมในภาษาการเขียนโปรแกรม
Josh Tint สนใจเรื่องภาษา เขาอายุ 19 ปี เพิ่งจบชั้นปีที่ 1 ที่ Arizona State University และสนใจเรียนด้านภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะภาษาศาสตร์ภาษาลาเวนเดอร์ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในกลุ่ม LGBTQ+ 
Tint ได้ออกแบบผลงาน Swift Playgrounds ที่ชนะรางวัล ซึ่งเป็นแอปช่วยให้คนซึ่งยังคงสงสัยกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ลองใช้สรรพนามที่แตกต่างกันออกไป
"อัลกอริทึมจะช่วยแทรกสรรพนามที่แตกต่างกันลงในข้อความตัวอย่างหลายๆ แบบ" Tint กล่าว "แล้วคุณก็แค่ปัดข้อความตัวอย่างไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อระบุว่าชอบหรือไม่ชอบข้อความนั้น จะได้ลองดูว่าสรรพนามเพศแบบใดที่คุณคิดว่าเหมาะกับอัตลักษณ์ของตนเอง"
แรงบันดาลใจสำหรับแอปดังกล่าวมาจากชีวิตของ Tint 
"ฉันเคยสงสัยในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง จึงรู้ว่ามีตัวช่วยในเรื่องนี้ไม่มากนัก" Tint เล่า "ดังนั้นจึงอยากพัฒนาเครื่องมือที่คิดว่าน่าจะนำไปใช้ได้ดีกับประสบการณ์ของตัวเองและได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วย ฉันอยากมีแอปที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว"
Tint หัดเรียนเขียนโค้ดด้วยตัวเองตั้งแต่ช่วงแรกของมัธยมปลาย และได้ออกแบบอัลกอริทึมที่สามารถจำแนกและสร้างบทกลอนได้เอง และเคยนำไปใช้ประกวดแต่งกลอนประจำโรงเรียนจนชนะรางวัล
ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มศึกษา Swift และคิดว่าเหมาะอย่างยิ่งกับงานของเขาด้านภาษาศาสตร์ 
"ฉันชอบเฟรมเวิร์กของ Swift ที่เป็นภาษาปกติที่ใช้กันมาก" Tint กล่าว "เพราะทรงพลังและเหมาะกับการเขียนสคริปต์อย่างมาก ซึ่งฉันเคยใช้สร้างโมเดลการเรียนรู้ของระบบเพื่อช่วยวิเคราะห์คำพูดมาแล้ว"
ในอนาคต Tint อยากใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์และการเขียนโปรแกรมเพื่อออกแบบอัลกอริทึมที่ช่วยลดความเอนเอียง
"ตอนนี้ผลงานจำนวนมากมีเพียงไม่กี่ภาษาเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเอนเอียงของคนเขียน" Tint กล่าว "เราควรใส่ใจกับข้อจำกัดดังกล่าวและเริ่มสร้างโมเดลใหม่ที่มีพารามิเตอร์มากขึ้นและมีชุดข้อมูลที่เปิดกว้างด้านความแตกต่างให้มากขึ้นและใหญ่ขึ้น เพราะหากเราไม่ใส่เรื่องราวของชุมชนสุดชายขอบไว้ในกระบวนการหลักตั้งแต่ตอนนี้ ก็อาจสายไปที่จะกลับมาตามแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง" 
Apple ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งเสริมและยกระดับนักพัฒนา นักสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการรุ่นถัดไปผ่านทางโปรแกรมสำหรับนักเรียนในงาน WWDC ประจำปี โดยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นักเรียนหลายพันคนได้สร้างเส้นทางอาชีพด้านเทคโนโลยีอย่างประสบความสำเร็จ ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนร่วมลงทุน และจัดตั้งองค์กรที่มุ่งเน้นการเปิดกว้างทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น
แชร์บทความ

Media

  • เนื้อหาของบทความนี้

  • รูปภาพในบทความนี้

รายชื่อติดต่อสำหรับสื่อมวลชน

ช่องทางให้ความช่วยเหลือของ Apple สำหรับสื่อมวลชน

media.thailand@apple.com